ข้อมูลติดต่อบริษัทไอโซแคร์

    นำเสนอเนื้อหาของ "กฏกระทรวงตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ " ซึ่งเป็นกฏหมายที่ออกบังคับใช้เพื่อให้สหกรณ์ได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสหกรณ์  และนำเสนอบทความ/ข่าวสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎกระทรวง

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ คุมหนี้-สภาพคล่องสหกรณ์ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน

------------------------------------------------------------------------------------------
ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  6 ตุลาคม พ.ศ.2563 อนุมัติหลักการ 5 ฉบับ
--------------------------------------------------------------------

isc act02   นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ปี 62 จำนวน 5 ฉบับประกอบด้วย

   1.ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้และให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภทคือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด

   รวมถึงเงินกู้สามัญเป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อใช้จ่าย หรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด และ เงินกู้พิเศษ มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อประกอบอาชีพหรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด อายุสูงสุดของผู้กู้ชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกินอายุ 75 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้สมาชิกต้องส่งข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น

   2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน

กฎกระทรวง การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ๒๕๖๔

regulation coop 2564 02
กฎกระทรวง
การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
พ.ศ. ๒๕๖๔
---------------------
 
      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๘๙/๒ (๑) (๒) (๓) (๖) (๙) (๑๑) และ (๑๒) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
      ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
      “สหกรณ์” หมายความว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
      “สหกรณ์อื่น” หมายความว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
      “ชุมนุมสหกรณ์” หมายความว่า ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
      “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
      “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการดำเนินการสหกรณ์
      “ผู้ให้บริการทางการเงิน” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งดำเนินการโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
      “ผู้มีอำนาจในการจัดการ” หมายความว่า
      (๑) ผู้จัดการ รองผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น แล้วแต่กรณี
      (๒) บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งสหกรณ์หรือผู้ให้บริการทางการเงินทำสัญญาให้มีอำนาจในการบริหารงานทั้งหมดหรือบางส่วน
      (๓) บุคคลซึ่งตามพฤติการณ์มีอำนาจควบคุมหรือครอบงำกรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการทางการเงิน หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการดำเนินงานของสหกรณ์หรือผู้ให้บริการทางการเงิน
      “ที่ปรึกษาของสหกรณ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่สหกรณ์โดยอาจมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งรับจ้างทำงานให้แก่สหกรณ์ โดยมีลักษณะของงานที่ใช้ความรู้ความสามารถพิเศษด้านเทคนิค หรือใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษางานบัญชี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ
      “ผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้
      (๑) เป็นคู่สมรส
      (๒) เป็นบุตรหรือบุตรบุญธรรมซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
      (๓) เป็นนิติบุคคลซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) มีอำนาจในการจัดการ หรือควบคุม