กฎกระทรวง
การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
พ.ศ. ๒๕๖๔
---------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๘๙/๒ (๑) (๒) (๓) (๖) (๙) (๑๑) และ (๑๒) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“สหกรณ์” หมายความว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“สหกรณ์อื่น” หมายความว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“ชุมนุมสหกรณ์” หมายความว่า ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการดำเนินการสหกรณ์
“ผู้ให้บริการทางการเงิน” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งดำเนินการโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
“ผู้มีอำนาจในการจัดการ” หมายความว่า
(๑) ผู้จัดการ รองผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น แล้วแต่กรณี
(๒) บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งสหกรณ์หรือผู้ให้บริการทางการเงินทำสัญญาให้มีอำนาจในการบริหารงานทั้งหมดหรือบางส่วน
(๓) บุคคลซึ่งตามพฤติการณ์มีอำนาจควบคุมหรือครอบงำกรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการทางการเงิน หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการดำเนินงานของสหกรณ์หรือผู้ให้บริการทางการเงิน
“ที่ปรึกษาของสหกรณ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่สหกรณ์โดยอาจมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งรับจ้างทำงานให้แก่สหกรณ์ โดยมีลักษณะของงานที่ใช้ความรู้ความสามารถพิเศษด้านเทคนิค หรือใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษางานบัญชี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ
“ผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคู่สมรส
(๒) เป็นบุตรหรือบุตรบุญธรรมซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๓) เป็นนิติบุคคลซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) มีอำนาจในการจัดการ หรือควบคุม
หมวด ๑
การกำหนดขนาดของสหกรณ์
-----------------------
ข้อ ๒ สหกรณ์แบ่งเป็นสองขนาด ดังต่อไปนี้
(๑) สหกรณ์ขนาดใหญ่ ได้แก่ สหกรณ์ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ห้าพันล้านบาทขึ้นไป และชุมนุมสหกรณ์
(๒) สหกรณ์ขนาดเล็ก ได้แก่ สหกรณ์ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่าห้าพันล้านบาท
ขนาดสินทรัพย์ของสหกรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาจากข้อมูลงบการเงินของสหกรณ์ในปีบัญชีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดขนาดของสหกรณ์ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่มีการจดทะเบียนชุมนุมสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศรายชื่อชุมนุมสหกรณ์ดังกล่าวเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับจดทะเบียน
(๒) ในกรณีที่สหกรณ์ขนาดเล็กแห่งใดมีขนาดสินทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศรายชื่อสหกรณ์ดังกล่าวเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์ได้รับสำเนารายงานประจำปีและงบการเงินประจำปี
(๓) ในกรณีที่สหกรณ์ขนาดใหญ่แห่งใดมีขนาดสินทรัพย์ลดลงต่ำกว่าขนาดที่กำหนดให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน และสหกรณ์นั้นยื่นคำร้องโดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อขอยกเลิกการเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศถอนชื่อสหกรณ์ดังกล่าวจากการเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับเหตุผลและความจำเป็นทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์ได้รับคำร้อง
ข้อ ๔ การประกาศรายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่และการประกาศถอนชื่อออกจากการเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ตามข้อ ๓ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ไม่สามารถ
ดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ประกาศรายชื่อไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง
หมวด ๒
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้จัดการ
------------------------
ข้อ ๕ นอกจากอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๑/๑ ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) กำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมของสหกรณ์เพื่อเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(๒) จัดให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสหกรณ์
(๓) จัดให้มีนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อ การลงทุน สภาพคล่อง และปฏิบัติการ รวมทั้งจัดให้มีการทบทวนนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ
(๔) กำกับดูแลฝ่ายจัดการให้จัดการงานของสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
(๕) จัดให้มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบกิจการที่มีประสิทธิภาพ
(๖) กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการรายงานเรื่องที่สำคัญของสหกรณ์ต่อคณะกรรมการอย่างรวดเร็วและมีกระบวนการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนเพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
(๗) กำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการฝาก การลงทุน การกู้ยืมจากสหกรณ์อื่นและสถาบันการเงิน และการค้ำประกันเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์พิจารณาอนุมัติ
(๘) พิจารณาแต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการต่างๆ ตามความจำเป็น
(๙) กำกับดูแลสหกรณ์ให้มีการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสหกรณ์ โดยต้องเปิดเผยให้สมาชิกได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้
(๑๐) กำกับดูแลสหกรณ์ให้มีการจัดส่งข้อมูลและรายงานต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๑๑) ปฏิบัติตามและกำกับดูแลสหกรณ์ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง การจัดส่งข้อมูลและรายงานตาม (๑๐) นายทะเบียนสหกรณ์จะกำหนดให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบการดำเนินการเฉพาะด้าน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น
ข้อ ๗ สหกรณ์ที่มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองหรือเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการลงทุน เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลและจัดการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น
ข้อ ๘ สหกรณ์ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ หรือผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรในด้านดังกล่าวหรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
สหกรณ์ขนาดเล็กต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน และสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยสามคน
ข้อ ๙ นอกจากลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ แล้ว กรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สั่งถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะพ้นระยะเวลาที่กำหนดห้ามดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว หรือได้รับการยกเว้นจากหน่วยงานกำกับดูแล แล้วแต่กรณี
(๒) มีหรือเคยมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจการใดๆ อันผิดกฎหมาย ที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือฉ้อโกงประชาชน
(๓) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์อื่น เว้นแต่เป็นกรรมการของชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกอยู่ได้อีกไม่เกินหนึ่งแห่ง
(๕) เป็นกรรมการของสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์นั้นไม่เกินหนึ่งปี หรือเป็นผู้จัดการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสหกรณ์นั้นไม่เกินหนึ่งปี แล้วแต่กรณี
(๖) ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่าเก้าสิบวันกับนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
(๗) ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยกับสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกในระยะเวลาสองปีทางบัญชีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
ข้อ ๑๐ ให้ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการและผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ดำเนินการจัดทำหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อยื่นต่อสหกรณ์เพื่อรับรองตนเองว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามกฎกระทรวงนี้ และแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้ง
ให้สหกรณ์ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องของบุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หากเห็นว่าเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งนั้น
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ
ให้คณะกรรมการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งเหตุที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามให้กรรมการรายนั้นทราบเพื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งทันที
(๒) มีหนังสือแจ้งเหตุในการเลิกจ้างผู้จัดการทันที
หมวด ๓
การดำรงเงินกองทุนของชุมนุมสหกรณ์
----------------
ข้อ ๑๒ เงินกองทุนของชุมนุมสหกรณ์ ประกอบด้วย
(๑) ร้อยละเก้าสิบของทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว
(๒) ทุนสำรอง
ข้อ ๑๓ ให้ชุมนุมสหกรณ์ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้า โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) การคำนวณเงินกองทุนให้นำรายการทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วตามข้อ ๑๒ (๑) รวมกับทุนสำรองตามข้อ ๑๒ (๒) แต่ในกรณีที่ชุมนุมสหกรณ์มีผลขาดทุนสะสมและผลขาดทุนระหว่างงวดให้นำมาหักออกด้วย
(๒) การคำนวณสินทรัพย์ ให้หมายถึงสินทรัพย์ทุกรายการในงบการเงิน ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาล และเงินสด โดยใช้มูลค่าตามบัญชี ณ วันที่คำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ หักเงินสำรองที่ได้กันไว้สำหรับสินทรัพย์นั้น
หมวด ๔
การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลของสหกรณ์
---------------
ข้อ ๑๔ ในการประชุมใหญ่ นอกจากเรื่องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบเป็นปกติแล้ว สหกรณ์ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) ผลประโยชน์และค่าตอบแทนที่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ และที่ปรึกษาของสหกรณ์ ได้รับจากสหกรณ์นั้นในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา โดยให้สหกรณ์แสดงรายละเอียดดังกล่าวเป็นรายบุคคลในรายงานประจำปี
(๒) ข้อมูลการถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ การถูกดำเนินคดี การถูกร้องเรียน และถูกลงโทษของสหกรณ์ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา พร้อมทั้งแผนหรือแนวทางการป้องกันไม่ให้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษถูกดำเนินคดี ถูกร้องเรียน และถูกลงโทษในเรื่องดังกล่าวอีก
(๓) รายการอื่นที่คณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่มีมติให้เปิดเผยแก่สมาชิก
(๔) รายการอื่นตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
ข้อ ๑๕ ให้สหกรณ์จัดทำรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ประกาศกำหนด
ในการจัดทำรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามวรรคหนึ่ง ให้สหกรณ์ขนาดเล็กจัดทำอย่างน้อยทุกหกเดือน และสหกรณ์ขนาดใหญ่จัดทำทุกเดือน
ให้สหกรณ์เปิดเผยรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินที่ได้จัดทำตามวรรคหนึ่ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ประกาศรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง
ข้อ ๑๖ ให้สหกรณ์จัดส่งรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามข้อ ๑๕ ให้แก่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และนายทะเบียนสหกรณ์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักภายในระยะเวลาที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ประกาศกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้จัดส่งโดยวิธีอื่นตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ประกาศกำหนด
ข้อ ๑๗ ในการจัดทำรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน หากมีเหตุจำเป็นและสมควรจะต้องปรับปรุงข้อมูลในรายการดังกล่าว หรือข้อมูลในรายการดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ให้สหกรณ์ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่มีการปรับปรุงรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินหลังจากที่ได้มีการเปิดเผยตามข้อ ๑๕ หรือได้จัดส่งตามข้อ ๑๖ แล้ว ให้ระบุข้อความว่า“ฉบับปรับปรุง” ไว้ตรงกลางด้านบนสุดของรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินฉบับปรับปรุงนั้น และให้สหกรณ์นั้นเผยแพร่รายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินซึ่งได้ปรับปรุงแล้วและจัดส่งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และนายทะเบียนสหกรณ์เพิ่มเติม
(๒) ในกรณีที่ข้อมูลในรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของสหกรณ์ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ให้ระบุข้อความว่า“รายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินนี้ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีสหกรณ์” ไว้ในรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินนั้นด้วย
ข้อ ๑๘ เพื่อป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ในการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้คณะกรรมการถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) การให้สินเชื่อหรือให้กู้แก่กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษและต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าวมากกว่าการให้สินเชื่อหรือให้กู้กับสมาชิกอื่น
(๒) การทำธุรกรรมกับกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษและต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าว
(๓) การจ่ายเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ต้องไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนนอกเหนือไปจากบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ
(๔) การขาย ให้ หรือให้เช่าทรัพย์สินใดๆ แก่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว และการรับซื้อ หรือเช่าทรัพย์สินใดๆจากบุคคลดังกล่าวหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ต้องเป็นการดำเนินการตามมูลค่าของทรัพย์สินนั้นโดยถือเอาราคาตามบัญชีของทรัพย์สินของสหกรณ์นั้นหรือราคาตลาดตามมาตรฐานการบัญชีของทรัพย์สินนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โดยสหกรณ์ต้องเสนอให้ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์เห็นชอบก่อนดำเนินการดังกล่าว
(๕) การพิจารณาให้สินเชื่อหรือให้กู้แก่กรรมการซึ่งเป็นสมาชิก ห้ามกรรมการซึ่งขอสินเชื่อ หรือกู้เงินและผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมการซึ่งขอสินเชื่อหรือกู้เงินเข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
(๖) การพิจารณาให้สินเชื่อหรือให้กู้แก่สหกรณ์อื่น ห้ามกรรมการซึ่งเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ที่ขอสินเชื่อหรือขอกู้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ข้อ ๑๙ สหกรณ์ต้องจัดให้มีช่องทางให้สมาชิกสามารถแจ้งปัญหาหรือข้อร้องเรียนได้อย่างสะดวก โดยต้องแจ้งให้สมาชิกทราบถึงช่องทาง วิธีการแจ้งปัญหาหรือข้อร้องเรียน และระยะเวลาในการพิจารณาปัญหาหรือข้อร้องเรียนนั้น รวมทั้งจัดให้มีระบบการติดตามความคืบหน้าและแจ้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนให้ผู้ร้องเรียนทราบเป็นระยะ
การแก้ไขปัญหาและข้อร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรมโดยพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แวดล้อมในแต่ละกรณี รวมทั้งเหตุปัจจัยทั้งหมดด้วย
ข้อ ๒๐ ให้สหกรณ์จัดให้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาหรือชดเชยแก่สมาชิกซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของสหกรณ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาหรือชดเชยสำหรับนำไปใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอันมีลักษณะเดียวกันเพื่อให้สมาชิกได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
(๒) กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาหรือชดเชยในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เหมาะสม รวดเร็ว และเป็นธรรม
(๓) แจ้งให้สมาชิกทราบถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาหรือชดเชยเป็นระยะ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาและปัจจัยในการพิจารณาให้เป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดพลาดจากระบบงานหรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์นั้น
การจัดทำหรือแก้ไขมาตรการในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาหรือชดเชยแก่สมาชิกตามวรรคหนึ่ง ให้สหกรณ์แจ้งให้สมาชิกทราบในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี และเปิดเผยมาตรการดังกล่าวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้เปิดเผยมาตรการนั้น ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง
ข้อ ๒๑ สหกรณ์ต้องจัดให้มีการอธิบายข้อมูลรายละเอียดของบริการทางการเงินและเปิดเผย ข้อมูลดังกล่าวให้สมาชิกรับทราบและเข้าใจได้ง่ายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้เปิดเผยข้อมูลนั้น ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาของสหกรณ์นั้นทุกแห่ง
ข้อมูลรายละเอียดของบริการทางการเงินของสหกรณ์ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีการแสดงเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและชัดเจนเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกในการเลือกใช้บริการทางการเงินของสหกรณ์
ข้อ ๒๒ ห้ามมิให้สหกรณ์ให้ผลตอบแทนอื่นใดนอกจากดอกเบี้ย เว้นแต่เป็นของกำนัลแก่สมาชิกในโอกาสประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไปและมีการให้แก่สมาชิกทุกรายที่เข้าเงื่อนไขซึ่งสหกรณ์กำหนดอย่างเท่าเทียมกัน
หมวด ๕
การบัญชีและการรายงานข้อมูล
------------------
ข้อ ๒๓ ให้สหกรณ์จัดทำบัญชีและงบการเงิน และเปิดเผยข้อมูลงบการเงิน ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์
ข้อ ๒๔ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสหกรณ์และการปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
ข้อ ๒๕ ให้สหกรณ์จัดเก็บและรายงานข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ ดังต่อไปนี้
(๑) งบแสดงฐานะทางการเงิน
(๒) งบกำไรขาดทุน
(๓) งบทดลอง
(๔) การลงทุนในหลักทรัพย์
(๕) ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและการฝากเงิน
(๖) เจ้าหนี้เงินกู้และผู้ฝากเงิน
(๗) การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
(๘) ฐานะสภาพคล่องสุทธิ
(๙) รายงานการก่อหนี้
(๑๐) การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง
(๑๑) รายงานการสอบทานหนี้
(๑๒) การดำรงเงินกองทุน
(๑๓) แบบรายงานคุณภาพลูกหนี้เงินให้กู้ยืม
(๑๔) รายงานอื่นตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
แบบรายงานและวิธีการรายงานให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
บทเฉพาะกาล
-------------
ข้อ ๒๖ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศรายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่ตามข้อ๒ (๑) ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๒๗ กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๙ (๔) หรือ (๕) ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าจะครบวาระหรือครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
ข้อ ๒๘ ให้สหกรณ์ดำเนินการให้มีกรรมการซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ ๘ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่สหกรณ์นั้นมีคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๒๙ ชุมนุมสหกรณ์ใดที่ดำรงเงินกองทุนไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๓๐ สหกรณ์ขนาดเล็กใดไม่สามารถจัดทำรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามข้อ ๑๕ ได้ ให้สหกรณ์ดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงระบบการทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ประกาศกำหนด เพื่อให้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ ๑๕ ภายในสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๓๑ บรรดาประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศหรือระเบียบที่ออกตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
มนัญญา ไทยเศรษฐ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘๙/๒ (๑) (๒) (๓) (๖) (๙) (๑๑) และ (๑๒) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ บัญญัติให้การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเรื่องการกำหนดขนาดของสหกรณ์ การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์และผู้จัดการ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ การดำรงเงินกองทุน การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการจัดเก็บ และการรายงานข้อมูล เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้